วันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ต้นมะค่าโมง

          


ต้นมะค่าโมง



มะค่าโมงเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ผลัดใบ มีความสูงระหว่าง 15-20 เมตร แตกกิ่งต่ำเรือนยอดเป็นพุ่มแผ่กว้าง ตามลำต้นมักเป็นครีบและมักจะมีปุ่มปมตั้งแต่ขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ เข้าใจว่าปุ่มนี้เกิดจากเซลล์มะเร็งที่ทำให้เกิดการพัฒนาผิดไป เปลือกสีน้ำตาลอ่อนหรือชมพูอมน้ำตาม หรือสีเทา มีรูระบายอากาศกระจัดกระจาย กระพี้สีขาว หรือขาวอมเหลือง กิ่งอ่อนมีขนคลุมบาง ๆ
          ใบ  เป็นช่อเรียงสลับกัน ช่อใบยาว 18-29 ซม. ก้านช่อใบค่อนข้างสั้น ยาวประมาณ 2 ซม. บนแกนช่อใบมีใบย่อยขึ้นตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ 3-5 คู่ ใบย่อยรูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง 2-5 ซม. ยาว 4-9 ซม. ก้านใบย่อยยาว 3-5 มม. ปลายใบมน มักจะเว้าตื้น ๆ ตรงกลาง โคนใบมนหรือหยักเว้าเข้าเล็กน้อย ใบคู่ล่างจะมีขนาดเล็กกว่าคู่ที่ถัดขึ้นไป ขอบใบเรียบ
         ดอก 
               สีเขียวอ่อน แต้มสีแดงเรื่อ ๆ ออกเป็นช่อแตกแขนงที่ปลายกิ่ง ยาว 5-15 ซม. มีขนคลุมบาง ๆ ก้านดอกย่อยยาว 7-10 มม. ใบประดับรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ยาว 6-9 มม. มีขนประปราย กลีบรองกลีบดอกติดกัน ส่วนบนแยกเป็นกลีบรูปขอบขนาน 4 กลีบ แต่ละกลีบซ้อนทับกัน กลีบยาวประมาณ 10-12 มม. กลีบดอกมีเพียงกลีบบนสุดเพียงกลีบเดียวที่เจริญขึ้นเป็นกลีบดอก สีแดงเรื่อ ๆ หรือแดงอมชมพู ทรงเกือบจะเป็นแผ่นกลม ยาวประมาณ 7-9 มม. ส่วนฐานคอดเข้าหากันเป็นก้านกลีบดอก ยาว 5-12 มม. เกสรผู้ที่สมบูรณ์มี 8-(3) อัน ก้านเกสรแยกจากกันเป็นอิสระหรือติดกันเล็กน้อยที่ฐาน เกสรผู้ปลอม 3 อัน ค่อนข้างสั้น
      รังไข่  ยาวประมาณ 7 มม. มีขนคลุมติดอยู่บนก้านส่งยาวประมาณ 7 มม. ภายในมีช่องเดียว และมีไข่อ่อนมาก ออกดอกระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ฝักแก่ประมาณเดือนมิถุนายน-สิงหาคม
          ผล  เป็นฝักแบนรูปบรรทัดสั้น  กว้าง 7-10 มม. ยาว 12-20 ซม. เปลือกหุ้มฝักแข็งมาก หนาประมาณ 5-7 มม. เมื่อฝักแก่จะแตกออกเป็น 2 ซีก กว้าง 2-2.5 ซม. ยาว 2.5-4 ซม. หนา 0.8-1.2 ซม. เมล็ดแก่สีดำ มีเยื่อหนารูปถ้วย ยาวประมาณ 1.5 ซม. สีเหลืองสด ห่อหุ้มส่วนฐานของเมล็ด กลุ่มสมุนไพรเรียกผลของมะค่าโมงว่า ฟันฤาษีใช้เป็นยาสมุนไพร
          ลักษณะเนื้อไม้ 
            แก่นสีน้ำตาลอมเหลืองอ่อนถึงเหลืองแก่ เสี้ยนค่อนข้างสน เนื้อหยาบมีริ้วแทรก แข็ง เหนียว แข็งแรง และทนทาน เลื่อยค่อนข้างยาก ถ้าแห้งแล้วตบแต่งง่าย ขัดและชักเงาได้ดี ความถ่วงจำเพาะประมาณ 0.85
           คุณสมบัติ  เนื้อไม้มีความแข็งประมาณ 807 กก. ความแข็งแรงประมาณ 1,229 กก./ตร./ซม. ความดื้อประมาณ 101,700 กก./ตร.ซม. ความเหนียวประมาณ 3.8 กก.-. การผึ่งและอบ ผึ่งให้แห้งด้วยกระแสอากาศยาก ต้องใช้เวลานาน อบให้แห้งยากปานกลาง ความทนทานตามธรรมชาติตั้งแต่ 6-19 ปี เฉลี่ยประมาณ 10.7 ปี การอาบน้ำยาไม้ อาบน้ำยาได้ง่าย

การขยายพันธุ์
            การขยายพันธุ์ที่นิยมและสะดวกที่สุด มักจะขยายพันธุ์จากเมล็ด ซึ่งได้จากฝักแก่ ที่มีสีน้ำตาลแก่เกือบดำ ฝักเมื่อแก่จะแตกออก วิธีการเก็บเมล็ดมาเพาะกล้า เก็บฝักโดยการเป็นต้นแล้วลิดกิ่งที่มีฝักแก่แล้วนำมาตากแดด ช่วงเวลาเก็บเมล็ด มกราคม-มีนาคม
             วิธีปฏิบัติต่อเมล็ด เมล็ดมะค่าโมงมีเปลือกหุ้มเมล็ดที่แข็งมาก จึงควรสับเปลือกเมล็ดตรงส่วนหัวให้เห็นเนื้อด้านในเล็กน้อย แล้วจึงนำไปแช่น้ำ 1 คืน จากนั้นจึงนำไปหว่านลงในแปลงเพาะชำซึ่งเป็นดินปนทราย หรือเพาะลงในถุงพลาสติกซึ่งบรรจุดินในอัตราส่วน 1:1 โดยหว่านเมล็ดให้ห่างกันประมาณ 2-3 ซม. เสร็จแล้วโรยทรายละเอียดกลบเมล็ด โดยให้มีความหนาประมาณ 0.5-1.00 ซม. การให้น้ำในแปลงเพาะนั้นในระยะแรกควรให้น้ำวันละ 2 ครั้ง (เช้า-เย็น) และควรผสมยาป้องกันเชื้อราด้วย อัตราการงอกประมาณ 95-100% จากนั้นประมาณ 7-10 วัน เมล็ดก็จะงอก ทำการย้ายชำลงถุงพลาสติก นำกล้าไม้ไปเลี้ยงไว้ในเรือนเพาะชำพรางแสงประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ เป็นระยะเวลา 3-4 เดือน ก่อนทำการย้ายปลูก ก่อนการปลูกจำเป็นต้องทำให้กล้าไม้แข็งแรงแกร่งเสียก่อน อย่างน้อย 1-2 สัปดาห์
  การปลูก การเจริญเติบโตและการปรับปรุงพันธุ์
          โดยทั่วไปในการคัดเลือกพื้นที่ที่จะทำการปลูกมะค่าโมงควรปลูกในพื้นที่ราบ หรือมีความลาดชันน้อย ไม่เป็นที่ลุ่มน้ำขังเมื่อฝนตก ดินลึกค่อนข้างชื้น มีความอุดมสมบูรณ์ดี ปริมาณน้ำฝนค่อนข้างสูงเฉลี่ย 1,000-1,500 มม./ปี อุณหภูมิเฉลี่ย 19-24Oเซลเซียส การปลูกนอกจากจะปลูกโดยใช้กล้าไม้แล้วยังสามารถปลูกโดยใช้เหง้าที่มีอายุตั้งแต่ 9-12 เดือน หรือกล้าไม้ในลักษณะเปลือยราก (bare root) ก่อนปลูกควรรดน้ำให้ชุ่มเพื่อให้กล้าไม้สามารถทนต่อสภาพแห้งแล้งได้นาน
          ระยะปลูกที่เหมาะสมคือ 4x4 เมตร ซึ่งจะให้ผลตอบแทนในด้านปริมาตร เนื้อไม้ต่อพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น อีกทั้งรูปทรงของต้นไม้จะมีลักษณะที่มีความเรียวเหมาะสมที่จะทำเป็นการค้าได้ และหากมีการปลูกผสมกับไม้ยืนต้นชนิดอื่น ๆ ซึ่งอาจจะเป็นไม้โตเร็วหรือโตช้าก็ได้ ก็จะทำให้การใช้ประโยชน์จากไม้ที่ผลิตได้จากพื้นที่นั้นมีความหลากหลายยิ่งขึ้น และเป็นแนวทางที่จะช่วยลดความรุนแรงของการระบาดของโรคและแมลงได้ ในช่วงแรกของการปลูกควรมีร่มเงา

        หลังจากปลูกกล้าได้แล้วประมาณ 1 เดือน ควรเริ่มทำการถางหญ้าและพรวนโคนต้นไม้ โดยในช่วงปีแรกควรทำประมาณ 2-3 ครั้ง นอกจากนี้ควรใส่ปุ๋ยเคมีเสริมโดยให้พิจารณาจากความอุดมสมบูรณ์ของดิน และใส่ในช่วงต้นฝน และทำแนวกันไฟเนื่องจากมะค่าโม่งไม่ทนไฟ หากถูกไฟครอกจะตายได้ง่าย หากพบว่ากิ่งมะค่าโมงที่เกิดขึ้นนั้นมีแนวโน้มที่จะทำให้รูปทรงต้นเสียไปให้ทำการลิดกิ่ง และเมื่อต้นไม้มีอัตราการเจริญเติบโตลดลง ให้ทำการตัดสางขยายระยะต้นไม้ออกส่วนหนึ่งซึ่งควรตัดออกตามความจำเป็น
       ไม้มะค่าโมงเมื่ออายุครบ 1 ปี ไม้ที่ปลูกภายใต้แสง 40 เปอร์เซ็นต์ จะมีการเจริญเติบโตดีที่สุด มีความสูงเฉลี่ยประมาณ 2.50 เมตร
 การใช้ประโยชน์
        เนื้อไม้  ใช้ทำเสา ทำไม้หมอนรองรางรถไฟ ใช้ในการก่อสร้างต่าง ๆ ทำเป็นพื้น รอด ตรง และเครื่องบนได้ทนทานและแข็งแรงดี ทำเครื่องเรือนและไม้บุผนังที่สวยงาม ทำเรือใบเดินทะเล และไม้พื้นเรือ ทำไถ คราด ครก สาก กระเดื่อง ลูกหีบ ส่วนประกอบต่าง ๆ ของเกวียน และตัวถังรถ ใช้สำหรับกลึง แกะสลัก ทำพานท้ายและรางปืน กลอง โทน รำมะนา ด้ามปากกา ปุ่มไม้มะค่ามีลวดลายสวยงามดีและราคาแพง ใช้ทำเครื่องเรือนและเครื่องใช้ชั้นสูง เฟอร์นิเจอร์ไม้มะค่าโมงได้รับความนิยมสูงเปลือก  ให้น้ำฝาดชนิด Pyrogalool และ Catecholเมล็ด  เนื้อในเมล็ดอ่อนใช้รับประทานเป็นอาหารได้






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น